วันพุธที่ 2 มกราคม พ.ศ. 2556

ประวัติวัดโพธิ์ศรีหนองกก



วัดโพธิ์ศรีหนองกก ตามคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ในหมู่บ้าน เดิมทีนั้น ยังมิได้เป็นวัดโพธิ์ศรีหนองกก ยังมิได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมา ยังคงเป็นที่พำนักสงฆ์อยู่ และมิได้ตั้งอยู่ ณ ที่ปัจจุบัน ได้เคยย้ายที่ตั้งมาแล้ว ๒-๓ ที่ อาจจะด้วยสาเหตุของการประกอบกิจทางศาสนาที่ไม่สะดวกนัก หรืออาจเป็นเพราะการฌาปนกิจที่ยุ่งยาก เป็นอุปสรรคต่อการทำพิธีสงฆ์

ต่อมา เมื่อได้ย้ายที่พำนักสงฆ์มาตั้งอยู่ ณ สถานที่(วัดโพธิ์ศรีหนองกก)ในปัจจุบัน คณะกรรมการหมู่บ้านได้มีประชุมปรึกษาหารือและมีความเห็นชอบร่วมกันว่า สมควรให้มีวัดขึ้นในหมู่บ้านเพื่อใช้เป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจร่วมกัน ประกอบกับมีบริเวณหมู่บ้านอยู่ใกล้เคียงกันหลายหมู่บ้าน และมีประชากรในหลายหมู่บ้านเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีวัดสำหรับเป็นสถานที่ประกอบศาสนกิจ จึงได้ประชุมปรึกษาหารือจึงได้ขออนุญาตสร้างวัดขึ้น เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๒๐ บนเนื้อที่ ๕ ไร่ ๒ งาน ๑๑ ตารางวา น.ส. ๓ เลขที่ ๑๘๕๒ ได้รับพระราชทานวิสูงคามสีมาในปีพุทธศักราช ๒๔๔๖

วัดโพธิ์ศรีหนองกก มีรายนามเจ้าอาวาส ดังนี้
๑. พระอุปัชฌาย์พิลา โสภิโต
๒. พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)
๓. พระมา สญฺญโม
๔. พระอธิการแสวง เตชปญฺโญ
๕. พระอธิการเพ็ง สิริจนฺโท
๖. พระครูประสิทธิ์ธรรมรังษี(ฤทธิ์ ปสนฺโน)

ปัจจุบันวัดโพธิ์ศรีหนองกก เป็นศาสนสถานที่เสริมสร้างและพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมของประชาชนชาวตำบลบัวหุ่งหมู่ ๖ หมู่ ๙ และหมู่ ๑๗ รวมถึงหมู่บ้านใกล้เคียง มีเสนาสนะที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ ได้แก่
กุฎิ กว้าง ๑๐ เมตร ยาว ๑๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
กุฎมิกว้าง ๗ เมตร ยาว ๕ เมตร ๒ หลัง
ศาลาการเปรียญ กว้าง ๑๑ เมตร ยาว ๑๕ เมตร จำนวน ๑ หลัง
อุโบสถกว้าง ๕ เมตร ยาว ๑๒ เมตร ๑ หลัง
ศาลาเอนกประสงค์ กว้าง ๑๔ เมตร ยาว ๑๗ เมตร ๑ หลัง
เมรุ(ฌาปนสถาน) ๑ หลัง
ห้องน้ำ กว้าง ๓ เมตร ยาว ๑๐ เมตร จำนวน ๑ หลัง
มีพระครูประสิทธิ์ธรรมรังษี(ฤทธิ์ ปสนฺโน) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส

ภาพสถานที่สำคัญภายในวัด


อุโบสถ



ศาลาการเปรียญ


หอระฆัง


กุฏิใหญ่


เมรุ


ศาลาเอนกประสงค์


ต้นโพธิ์คู่วัด(จากทั้งหมด ๓-๔ ต้น)


น.ส.สุดใน เฑียนมณี ผู้มีอุปการคุณของวัดโพธิ์ศรีหนองกก


รูปปั้นเสมือน หลวงปู่เพ็ง สิริจนฺโท
เจ้าอาวาสรูปก่อน


พระพุทธรูปบนศาลาการเปรียญ




หากมีข้อผิดพลาดอย่างไร ผู้สร้างโพสต์ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ด้วยความเคารพอย่างสูง

(C)2556 สงวนสิทธิ์ในนามวัดโพธิ์ศรีหนองกก บ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ห้ามนำไปเพื่อการจำหน่าย การหารายได้ หรือการพาณิชย์ใดๆ นอกเสียจากเพื่อการกุศลเท่านั้น

ประวัติ พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)


 รูป : พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)


พระครูเทวราชกวีวรญาณ นามเดิม จูม นามสกุล อาจสาลี เป็นบุตรคนที่ ๑ ของ นายหล้า-นางหล้า อาจสาลี เกิดที่บ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อวันที่ ๗ เดือนพฤศจิกายน พุทธศักราช ๒๔๒๘ ตรงกับวันจันทร์ ขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๑๒ ปีระกา มีพี่น้องร่วมบิดามารดาทั้งสิ้น ๘ คน ดังนี้
๑. พระครูเทวราชกวีวรญาณ (จูม ธฺมมทีโป)
๒. นางบาง อาจสาลี
๓. นางทุม อาจสาลี
๔. นายเพ็ง อาจสาลี
๕. นายเรือง อาจสาลี
๖. นายบุญมี อาจสาลี
๗. นายสุด อาจสาลี
๘. นางปี วรธรรม

เมื่อครั้งเจริญวัย ก่อนการบรรพชาอุปสมบท ได้ศึกษาภาษาไทย จากสำนักอาจารย์พออ่านออกเขียนได้ ครั้งเมื่ออายุ ๑๘ ปี ได้บรรพชาเป็นสามเณร เมื่อวันที่ ๒๐ เดือนพฤษภาคม พุทธศักราช ๒๔๔๖ มีพระครูเกษตรศีลาจารย์(นาม) เป็นอุปัชฌาย์ ณ วัดบ้านหนองกก และได้อยู่ศึกษาวิชาที่วัดบ้านหนองกก

เมื่ออายุ ๒๐ ปี ได้อุปสมบท เมื่อวันที่ ๑๘ เดือนกรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๔๘ ณ พัทธสีมาวัดบ้านเสียว ตำบลเสียว อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ(ปัจจุบัน คืออำเภอโพธิ์ศรีสุวรรณ) โดยมีพระครูเกษตรศีลาจารย์(นาม) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระครูเรือง เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระครูจันดา เป็นพระอนุสาวนาจารย์

รูป : พระจูม ธฺมมทีโป เมื่อครั้งอุปสมบทใหม่

ครั้นอุปสมบทแล้วได้จำพรรษาอยู่ ณ วัดบ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ เมื่อได้พ้น ๕ พรรษา ได้ย้ายไปอยู่วัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี(ปัจจุบัน วัดประยุรวงศาวาสวรวิหาร เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่ใกล้กับเชิงสะพานพระพุทธยอดฟ้า ฝั่งธนบุรี โดยมีเลขทะเบียนวัดที่ 24 ถนนประชาธิปก แขวงวัดกัลยาณ์ เขตธนบุรี กรุงเทพมหานคร) ศึกษาพระธรรมวินัยพอสมควร แล้วได้ย้ายไปอยู่จังหวัดนครสวรรค์ และกลับมาจำพรรษา ณ วัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ ตามลำดับ

พุทธศักราช ๒๔๖๐ ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

พุทธศักราช ๒๔๖๒ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย และในวันที่ ๑๕ เดือนมกราคม ในปีนั้น ได้รับแต่งตั้งเป็นพระอุปัชฌาย์ประเภทสามัญ

พุทธศักราช ๒๔๖๘ ได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่ง เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย และได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็น พระครูเทวราชกวีวรญาณ เมื่อวันที่ ๙ เดือนพฤศจิกายน ในปีนั้น

พุทธศักราช ๒๔๗๐ สอบได้นักธรรมชั้นตรี ในสนามหลวง สำนักเรียนวัดสำโรงใหญ่ อำเภออุทุมพรพิสัย จังหวัดศรีสะเกษ

พุทธศักราช ๒๔๗๑ สอบได้นักธรรมชั้นโท ในสนามหลวง สำนักเรียนคณะจังหวัดศรีสะเกษ และได้รับแต่งตั้งให้เป็นผู้รักษาการในตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอราษีไศล ในอีกตำแหน่งหนึ่ง

รูป : พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ได้เป็นพระครูปริยัติธรรม เจ้าอาวาส เจ้าคณะอำเภอ พระอุปัชฌาย์ ปฏิบัติศาสนกิจ จัดการปกครอง การศึกษา การเผยแผ่ศาสนา และการสาธารณูปการด้วยอุตสาหะ วิริยะภาพ  มีสัทธิวิหาริก อันเตวาสิก จำนวนมาก สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้รับการศึกษา โดยส่งให้ไปศึกษาต่อที่จังหวัดธนบุรี(ในขณะนั้น) โดยเฉพาะวัดประยุรวงศาวาส จังหวัดธนบุรี ซึ่งเป็นสำนักเรียนที่ท่านเคยได้ศึกษาเล่าเรียนมา อาทิ มหาทอง มหาสุเทพ(ทองคำ อาจสาลี ผู้เป็นหลานชายของพระครูฯ) มหาจอย มหาวงศ์ มหาระเบียบ พระราชจินดามุนี(หรือพระเทพวรมุนี (เสน ปญฺญาวชิโร) ป.ธ.๗ พ.ม. อดีตเจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ) ติดต่อเป็นลำดับมาจนตลอดสมัยที่ท่านปกครองในเขตอำเภออุทุมพรพิสัย

ในระหว่างพุทธศักราช ๒๔๘๓ - ๒๔๘๕ วงการคณะสงฆ์จังหวัดศรีสะเกษ เกิดความเข้าในผิดกันเกิดขึ้น เกิดความปั่นป่วนในทางคณะสงฆ์ โดยผู้ใหญ่ถืออำนาจไม่เป็นธรรม ส่งผลให้ พระครูเทวราชกวีวรญาณ ถูกถอดถอนออกจากตำแหน่งพระอุปัชฌาย์ เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ ถอดจากสมณศักดิ์เป็นพระจูม ธฺมมทีโป และถูกถอดจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัยด้วย ซึ่งในคราวนั้น มีเจ้าคณะที่ถูกถอดถอนด้วยกัน คือ
๑. พระครูธรรมจินดามหามุนี โคตมวงศ์สังฆวาหะ(เดช มหาปฺญโญ) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษ วัดมหาพุทธาราม
๒. พระครูเกษตรศีลาจารย์(ทอง จนฺทสาโร) เจ้าคณะอำเภอเมืองศรีสะเกษ วัดเจียงอีศรีมงคลวราราม
๓. พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป) เจ้าอาวาสวัดสำโรงใหญ่ เจ้าคณะอำเภออุทุมพรพิสัย
๔. พระครูพิทักษ์กันทรารมณ์(มหาค้ำ เขมภิรโต) วัดบ้านคำบอน เจ้าคณะอำเภอกันทรารมณ์
๕. พระครูศรีไศลคณารักษ์(ขาว) วัดกลาง เจ้าคณะอำเภอราษีไศล รูปนี้เพียงถอดจากตำแหน่งเจ้าคณะอำเภอเท่านั้น
นอกจากนี้พระเปรียญที่ถูกสั่งให้ลาสิกขาและให้บัพพาชนียกรรมอีก คือ
๑. พระมหาประเทือง ปภากโร(มหาประเทือง ธรรมสาลี) วัดมหาพุทธาราม
๒. พระมหาชาย (มหาชาย สีตะวัน) วัดมหาพุทธาราม
๓. พระสมุห์สิงห์ วัดมหาพุทธาราม

พระครูเทวราชกวีวรญาณ เมื่อถูกถอดจากตำแหน่งครั้งนั้นแล้ว ได้ย้ายไปอยู่ที่วัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกกในปัจจุบัน) ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นบ้านเกิดภูมิลำเนาเดิม ต่อมาได้เป็นเจ้าอาวาสวัดบ้านหนองกก เป็นเจ้าคณะตำบลบัวหุ่ง เป็นพระอุปัชฌาย์ในเขตตำบลบัวหุ่ง(เมื่อวันที่ ๒๓ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๙๔) รวมทั้งเป็นกรรมการสงฆ์อำเภอ องค์การสาธารณูปการอำเภอราษีไศล

รูป : ตราแต่งตั้ง พระจูม ธฺมมทีโป เป็นพระอุปัชฌาย์

พุทธศักราช ๒๔๙๗ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์คืนเป็น พระครูเทวราชกวีวรญาณ ในวันที่ ๕ เดือนธันวาคม ปีนั้น ถือพัด จ.ป.ร.(หมายถึง พัดในรัชกาลที่ ๕) มีนิตยภัต ๖๐ บาท เทียบเจ้าคณะอำเภอชั้นโท

รูป : มุทิตาบัตรแต่งตั้งเป็น พระครูเทวราชกวีวรญาณ เช่นเดิม


รูป : พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป) พร้อมพัดยศ


พุทธศักราช ๒๕๐๒ ได้รับพระราชทานในสมณศักดิ์เดิม โดยเลื่อนเป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก มีนิตยภัค ๘๐ บาท

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ดำรงตำแหน่งพระคณาธิการครั้งก่อนก็ดี ดำรงตำแหน่งพระคณาธิการครั้งหลังก็ดี มีอุตสาหะ วิริยภาพ บริหารงานอย่างเข้มแข็ง เคารพเอื้อเฟื้อในพระธรรมวินัย ไม่เคยขาดประชุมการคณะสงฆ์ เว้นแต่ป่วยจริงๆแม้เจ้าคณะจังหวัดจะเคยถวายคำแนะนำให้พักผ่อนรักษาตัว ไม่ต้องเดินทางเข้าไปประชุมที่จังหวัด ท่านก็ไม่ยอม แม้ร่างกายจะชราภาพมากแล้วก็ตาม

พระครูเทวราชกวีวรญาณ ได้อาพาธด้วยโรคชรา เป็นไปตามคติธรรมดา ได้มรณภาพ ณ วัดบ้านหนองกก(วัดโพธิ์ศรีหนองกกในปัจจุบัน) ในท่ามกลางศิษยานุศิษย์ ญาติมิตร ด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันที่ ๑๖ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๖ เวลา ๑๒.๑๕ น. สิริรวมอายุ ๗๗ ปี ๓ เดือน ๙ วัน ๕๗ พรรษา



รูป : อนุสรณ์งานพระราชทานเพลิงศพ
พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)
วันที่ ๒๒ เดือนกุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๕๐๗


รูป : เจดีย์บรรจุอัฐิ ณ วัดโพธิ์ศรีหนองกก
องค์ซ้าย - พระอุปัชฌาย์พิลา โสภิโต
โดยพระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป) และชาวบ้านหนองกก
สร้างถวาย เมื่อ พุทธศักราช ๒๔๙๓
องค์กลาง - พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)
องค์ขวา - ไม่ทราบว่าเป็นของพระท่านใด เพียงแต่ทราบว่า
พระครูเทวราชกวีวรญาณ(จูม ธฺมมทีโป)  สร้างถวาย


ข้อความดังกล่าวนั้น ได้คัดลอกมาจากหนังสืออนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูเทวราชกวีวรญาณ (จูม ธฺมมทีโป) อันเป็นหนังสือที่ พระราชจินดามุนี(เสน ปญฺญาวชิโร) เจ้าคณะจังหวัดศรีสะเกษในสมัยนั้น เป็นผู้เขียน และโดยพระครูประสิทธิ์ธรรมรังษี(ฤทธิ์ ปสนฺโน) เจ้าอาวาสวัดโพธิ์ศรีหนองกกในปัจจุบัน เป็นผู้พิจารณาคัดกรองความจากหนังสือนั้นในอีกคราวหนึ่ง

รูป : หนังสือ อนุสรณ์ ในงานพระราชทานเพลิงศพ พระครูเทวราชกวีวรญาณ (จูม ธฺมมทีโป)


อ้างอิงข้อมูลเสริมบางส่วนจาก :
http://www.m-culture.in.th/moc_new/album/123684/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%A8%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%81/

http://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%87%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%AA%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B8%AB%E0%B8%B2%E0%B8%A3

http://province.m-culture.go.th/sisaket/sadsana.htm

หากมีข้อผิดพลาดอย่างไร ผู้สร้างโพสต์ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย
ด้วยความเคารพอย่างสูง

(C)2556 สงวนสิทธิ์ในนามวัดโพธิ์ศรีหนองกก บ้านหนองกก ตำบลบัวหุ่ง อำเภอราษีไศล จังหวัดศรีสะเกษ ห้ามนำไปเพื่อการจำหน่าย การหารายได้ หรือการพาณิชย์ใดๆ นอกเสียจากเพื่อการกุศลเท่านั้น